Return to Research

ขอบอกเลยนะครับว่าส่วนนี้สำคัญมาก ๆ สำหรับการอนิเมชั่น
Return to Research
พอบทพัฒนามาถึงจุดนี้ ผมอยากให้ลองกลับไป research อีกครั้งครับ คราวนี้เราจะไม่ได้ research แบบเหวี่ยงแห เพราะเรามีเรื่องอยู่แล้ว แต่จะเป็นการเก็บรายละเอียดที่ตรงกับบท และหาข้อบกพร่องของบทไปด้วยในตัว เราอาจจะถือบทไปด้วยแล้วเช็คทีละจุดๆว่า บทของเรา fake รึเปล่า
ในการเขียน Screenplay จะต้องใส่รายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งการแสดง กิริยาอาการต่างๆ ทัศนคติ บทสนทนา ฉาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่สำคัญที่การresearchครั้งนี้ จะต้องเอากลับมาให้ได้ เพราะscreenplayจะเป็นบทขั้นสุดท้ายแล้ว (ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำ) ดังนั้นทุกๆอย่างที่เราจะเขียนในขั้นต่อไป จะต้องมีความจริงอยู่เยอะที่สุด
จึงอยากให้ลองกลับไปเช็คอีกทีว่า บทของเราสมจริงแค่ไหน โดยตั้งคำถามหาคำตอบให้กับบทอยู่เสมอ
สมัยที่ผมเรียนปี2 หลังจากได้treatmentแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกชายอายุ35 กับแม่อายุ60 ผมต้องเอาเครื่องอัดเสียงไปฝากไว้กับครอบครัวหนึ่ง ที่คิดว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับบท โดยแจ้งกับพี่ที่เป็นลูกชายว่า ผมต้องการรูปแบบการพูดคุยของแม่-ลูก ที่เป็นธรรมชาติ โดยผมได้ให้ประโยคของตัวละครลูกชายไปด้วย เป็นไกด์ในการสนทนา เพื่อที่ผมจะได้รู้ลักษณะการโต้ตอบของแม่ ในคำถามตามบท และเมื่อมีจังหวะดีๆที่พี่สามารถพูดคุยกับแม่ได้ ก็ฝากแอบกดอัดบันทึกเสียงการสนทนาของพี่ชายกับคุณแม่ให้หน่อย โดยอย่าให้คุณแม่รู้ตัว ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาดีครับ มีบางอย่างที่เป็นธรรมชาติ เกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ และผมก็ใช้มันในการเขียนscreenplay
อีกครั้งหนึ่งผมเขียนบทเกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ14 ที่ตามหาพ่อ ผมต้องการรู้ทัศนคติของเด็ก มุมมอง วิธีแก้ปัญหา การตัดสินใจ ฯ ผมไปคุยกับครูแนะแนวโรงเรียนมัธยม ซึ่งครูแนะแนวก็บอกให้ผมคิดคำถามมา คิดกิจกรรม คิดชั้นเชิงในการถามคำถามเด็ก เพื่อที่จะได้คำตอบที่น่าสนใจ ครูแนะแนวบอกว่าบางทีถ้าถามเด็กกันตรงๆ มันจะไม่ได้คำตอบ เราต้องค่อยๆพาเด็กไปสู่จินตนาการในบทให้ได้ แล้วครูแนะแนวก็ยกชั่วโมงเรียนแนะแนวให้ผม1คาบ ให้ผมทำกิจกรรมกับเด็ก
ส่วนพฤติกรรมของตัวละครก็ต้องอาศัยการสังเกตการณ์ครับ พยายามพาตัวเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับบท ไปอยู่กับคนที่ใกล้กับบทที่สุด เพื่อนผมบางคนต้องไปสลัม บางคนต้องไปคลุกคลีกับเด็กเร่ร่อน บางคนต้องทำเรื่องขอเข้าไปในเรือนจำ ไปคุยกับพระ ไปค่ายมวย ไปสนามม้า ไปหน่วยรบพิเศษ ฯ อย่างน้อย ถ้าเราหาบุคคลนั้นไม่ได้จริงๆ ก็ลองใช้ตัวเราเองนี่แหละครับ ไปในสถานการณ์ที่ตัวละครต้องไป เราจะมีโอกาสสัมผัสกับสถานการณ์หรือปัญหาของตัวละครมากขึ้น แล้วเก็บเป็นคำถามมา ไว้หาบุคคลที่ใกล้เคียงสัมภาษณ์
ฉาก 1
– ปกติแล้ว รองเท้าประเภทไหน ที่คนนิยมเอามาซ่อม
– ท่วงท่าการทำงาน ขั้นตอนการซ่อมรองเท้าที่ถูกต้องของมืออาชีพ เป็นอย่างไร
– การแต่งกายของช่าง
– ชื่อเรียกอุปกรณ์ หรือเครื่องมือของช่างซ่อมรองเท้า
– ลักษณะร้านเป็นอย่างไร
– กลุ่มลูกค้าคือใคร จำนวนลูกค้า-รายได้ของร้านเป็นอย่างไร
ฉาก 2
– ลักษณะเด่นของบ้านคนทำอาชีพซ่อมรองเท้า เช่น รั้งประตูด้วยเชือกรองเท้า
– พฤติกรรมที่อาชีพถ่ายทอดไปสู่ชีวิตประจำวัน เช่น การเก็บรองเท้า การมวนยาเส้น
ฉาก 3
– อาชีพของลูก ลูกสะใภ้ (ที่เชื่อได้ว่า พ่อยังทำงานซ่อมรองเท้า คงไม่ใช่เศรษฐีร้อยล้าน)
– ประเภทรถ ยี่ห้อ รุ่น ที่สัมพันธ์กับรายได้
– วิธีการพูดของลูกกับพ่อ ลูกสะใภ้กับพ่อผัว
ฉาก 4 / 5 / 6 / 7 / 8
– สภาพบ้านของลูก ที่สัมพันธ์กับรายได้และอาชีพ
– พฤติกรรมของคนแก่ ที่มีความขัดแย้งในใจ กับสถานที่ กับตัวเอง
ฉาก 9
– วิธีการพูดของลูกกับพ่อ ลูกสะใภ้กับพ่อผัว
ฉาก 10
– พฤติกรรมของคนแก่ กับเทคโนโลยี
ฉาก 11
– วิธีการพูดของลูกกับพ่อ
ฉาก 12
– พฤติกรรมของคนแก่เล่นกับนกเขา
ฉาก 13
– รองเท้าของลูกเป็นแบบไหน ที่สัมพันธ์กับรายได้และอาชีพ
– วิธีการซ่อมรองเท้าเบื้องต้น ตามอาการที่ปรากฏ ในบทลุงสมจะต้องให้ออกไปที่ร้าน ก็ต้องรู้ว่ารองเท้าชำรุดแบบไหนถึงต้องไปที่ร้าน
ฉาก 14
– พฤติกรรมของคนแก่ ตอนตัดสินใจเดินออกจากบ้านไป การเก็บของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ยาเส้น ยานัตถุ์ การสวมหมวก การล็อคประตู
ฉาก 15
– รองเท้าอะไร ที่ลูกสะใภ้ซื้อให้ลุงสม
– กัดเท้าแบบไหน
ฉาก 16
– ท่วงท่า วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการซ่อมรองเท้า ตามอาการที่ปรากฏ
ฉาก 17
– ท่วงท่า วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการขัดรองเท้า
ฉาก 18 / 19
– การแสดงออก วิธีการพูด ของลูกกับพ่อ ด้วยอารมณ์ของตัวละคร
ฉาก 20
– พฤติกรรมของตัวละครทุกตัว ในทัศนคติใหม่
ฉาก 21
– พฤติกรรมของตัวละครทุกตัว ในทัศนคติใหม่
– น้ำเสียงของสมบัติ กับประโยค “เดี๋ยวตอนเย็นผมมารับนะพ่อ”
– สีหน้า ท่าทาง ของลุงสม

อ้างอิง  http://www.moralmedias.net/index.php?option=com_content&task=view&id=46&Itemid=39

ใส่ความเห็น