การเขียนบทหนังสั้น

หนังสั้น คือ หนังยาวที่สั้น ก็คือการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงที่มีประเด็นเดียวสั้น ๆ แต่ได้ใจความ ศิลปะการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิทาน นิยาย ละคร หรือภาพยนตร์ ล้วนแล้วแต่มีรากฐานแบบเดียวกัน นั่นคือ การเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นของมนุษย์หรือสัตว์ หรือแม้แต่อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด ณ สถานที่ใดที่หนึ่งเสมอ ฉะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ตัวละคร สถานที่ และเวลา
สิ่งที่สำคัญในการเขียนบทหนังสั้นก็คือ การเริ่มค้นหาวัตถุดิบหรือแรงบันดาลใจให้ได้ ว่าเราอยากจะพูด จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอะไร ตัวเราเองมีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างไร ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนบทที่เราสามารถนำมาใช้ได้ก็คือ ตัวละคร แนวความคิด และเหตุการณ์ และควรจะมองหาวัตถุดิบในการสร้างเรื่องให้แคบอยู่ในสิ่งที่เรารู้สึก รู้จริง เพราะคนทำหนังสั้นส่วนใหญ่ มักจะทำเรื่องที่ไกลตัวหรือไม่ก็ไกลเกินไปจนทำให้เราไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้
เมื่อเราได้เรื่องที่จะเขียนแล้วเราก็ต้องนำเรื่องราวที่ได้มาเขียน Plot (โครงเรื่อง) ว่าใคร ทำอะไร กับใคร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร เพราะอะไร และได้ผลลัพธ์อย่างไร ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อมูล หรือวัตถุดิบที่เรามีอยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนว่ามีแนวคิดมุมมองต่อชีวิตคนอย่างไร เพราะความเข้าใจในมนุษย์ ยิ่งเราเข้าใจมากเท่าไร เราก็ยิ่งทำหนังได้ลึกมากขึ้นเท่านั้น
และเมื่อเราได้เรื่อง ได้โครงเรื่องมาเรียบร้อยแล้ว เราก็นำมาเป็นรายละเอียดของฉาก ว่ามีกี่ฉากในแต่ละฉากมีรายละเอียดอะไรบ้าง เช่นมีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ไปเรื่อย ๆ จนจบเรื่อง ซึ่งความจริงแล้วขั้นตอนการเขียนบทไม่ได้มีอะไรยุ่งยากมากมาย เพราะมีการกำหนดเป็นแบบแผนไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยาก มาก ๆ ก็คือกระบวนการคิด ว่าคิดอย่างไรให้ลึกซึ้ง คิดอย่างไรให้สมเหตุสมผล ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ไม่มีใครสอนกันได้ทุกคน ต้องค้นหาวิธีลองผิดลองถูก จนกระทั่ง ค้นพบวิธีคิดของตัวเอง
การเตรียมการและการเขียนบทภาพยนตร์
การเขียนบทภาพยนตร์เริ่มต้นที่ไหน เป็นคำถามที่มักจะได้ยินเสมอสำหรับผู้ที่เริ่มหัดเขียนบทภาพยนตร์ใหม่ ๆ เช่น ควรเริ่มช็อตแรก เห็นยานอวกาศลำใหญ่แล่นเข้ามาขอบเฟรมบนแล้วเลยไปสู่แกแล็กซี่เบื้องหน้าเพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของจักรวาล หรือเริ่มต้นด้วยรถที่ขับไล่ล่ากันกลางเมืองเพื่อสร้างความตื่นเต้นดี หรือเริ่มต้นด้วยความเงียบมีเสียงหัวใจเต้นตึกตัก ๆ ดี หรือเริ่มต้นด้วยความฝันหรือเริ่มต้นที่ตัวละครหรือเหตุการณ์ดี เหล่านี้เป็นต้น บางคนบอกว่ามีโครงเรื่องดี ๆ แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไร
การเริ่มต้นเขียนบทภาพยนตร์ เราต้องมีเป้าหมายหลักหรือเนื้อหาเป็นจุดเริ่มต้นการเขียน เราเรียกว่าประเด็น (Subject) ของเรื่อง ที่ต้องชัดเจนแน่นอน มีตัวละครและแอ็คชั่น ดังนั้น นักเขียนควรเริ่มต้นจากจุดนี้พร้อมด้วยโครงสร้าง (Structure) ของบทภาพยนตร์
ประเด็นอาจเป็นสิ่งที่ง่าย ๆ เช่น มนุษย์ต่างดาวเข้ามาเยือนโลกแล้วพลัดพลาดจากยานอวกาศของตน ไม่สามารถกลับดวงดาวของตัวเองได้ จนกระทั่งมีเด็ก ๆ ไปพบเข้าจึงกลายเป็นเพื่อนรักกัน และช่วยพาหลบหนีจากอันตรายกลับไปยังยานของตนได้ นี่คือเรื่อง E.T. – The Extra-Terrestrial (1982) หรือประเด็นเป็นเรื่องของนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทที่สูญเสียตำแหน่งและต้องการเอากลับคืนมา คือเรื่อง Rocky III หรือนักโบราณคดีค้นพบโบราณวัตถุสำคัญที่หายไปหลายศตวรรษ คือเรื่อง Raider of the Lost Ark (1981) เป็นต้น
การคิดประเด็นของเรื่องในบทภาพยนตร์ของเราว่าคืออะไร ให้กรองแนวความคิดจนเหลือจุดที่สำคัญมุ่งไปที่ตัวละครและแอ็คชั่น แล้วเขียนให้ได้สัก 2-3 ประโยค ไม่ควรมากกว่านี้ และที่สำคัญไม่ควรกังวลในจุดนี้ว่าจะต้องทำให้บทภาพยนตร์ของเราถูกต้องในแง่ของเรื่องราว แต่ควรให้มันพัฒนาไปตามแนวทางของขั้นตอนการเขียนจะดีกว่า
สิ่งแรกที่เราควรฝึกเขียนคือต้องบอกให้ได้ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เช่น เรื่องเกี่ยวกับความดีและความชั่วร้าย หรือเกี่ยวกับความรักของหนุ่มชาวกรุงกับหญิงบ้านนอก ความพยาบาทของปีศาจสาวที่ถูกฆาตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความคิดที่ยังขาดแง่มุมของการเขียนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จึงต้องชัดเจนมากกว่านี้ โดยเริ่มที่ตัวละครหลักและแอ็คชั่น ดังนั้นประเด็นของเรื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญของจุดเริ่มต้นการเขียนบทภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม การเขียนบทภาพยนตร์สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ ควรค้นหาสิ่งที่น่าสนใจจากสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวของนักเขียนเอง เขียงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองรู้ ทำให้ได้รายละเอียดในเชิงลึกของเนื้อหา เกิดความจริง สร้างความตื่นตะลึงได้ เช่นเรื่องในครอบครัว เรื่องของเพื่อนบ้าน เรื่องในที่ทำงาน ของตนเอง เรื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นต้น
ดังนั้นขั้นตอนสำหรับการเขียนบทภาพยนตร์สามารถสรุปได้คือ
1. การค้นคว้าหาข้อมูล (research)
เป็นขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์อันดับแรกที่ต้องทำถือเป็นสิ่งสำคัญหลังจากเราพบประเด็นของเรื่องแล้ว จึงลงมือค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเสริมรายละเอียดเรื่องราวที่ถูกต้อง จริง ชัดเจน และมีมิติมากขึ้น  คุณภาพของภาพยนตร์จะดีหรือไม่จึงอยู่ที่การค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ว่าภาพยนตร์นั้นจะมีเนื้อหาใดก็ตาม
2. การกำหนดประโยคหลักสำคัญ (premise)
หมายถึงความคิดหรือแนวความคิดที่ง่าย ๆ ธรรมดา ส่วนใหญ่มักใช้ตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นถ้า…” (what if) ตัวอย่างของ premise ตามรูปแบบหนังฮอลลีวู้ด เช่น เกิดอะไรขึ้นถ้าเรื่องโรเมโอ & จูเลียตเกิดขึ้นในนิวยอร์ค คือ เรื่อง West Side Story, เกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ดาวอังคารบุกโลก คือเรื่อง The Invasion of Mars, เกิดอะไรขึ้นถ้าก็อตซิล่าบุกนิวยอร์ค คือเรื่อง Godzilla, เกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ต่างดาวบุกโลก คือเรื่อง The Independence Day, เกิดอะไรขึ้นถ้าเรื่องโรเมโอ & จูเลียตเกิดขึ้นบนเรือไททานิค คือเรื่อง Titanic เป็นต้น
3. การเขียนเรื่องย่อ (synopsis)
คือเรื่องย่อขนาดสั้น ที่สามารถจบลงได้ 3-4 บรรทัด หรือหนึ่งย่อหน้า หรืออาจเขียนเป็น story outline เป็นร่างหลังจากที่เราค้นคว้าหาข้อมูลแล้วก่อนเขียนเป็นโครงเรื่องขยาย (treatment)
4. การเขียนโครงเรื่องขยาย (treatment)
เป็นการเขียนคำอธิบายของโครงเรื่อง (plot) ในรูปแบบของเรื่องสั้น โครงเรื่องขยายอาจใช้สำหรับเป็นแนวทางในการเขียนบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ บางครั้งอาจใช้สำหรับยื่นของบประมาณได้ด้วย และการเขียนโครงเรื่องขยายที่ดีต้องมีประโยคหลักสำหคัญ (premise)  ที่ง่าย ๆ น่าสนใจ
5. บทภาพยนตร์ (screenplay)
สำหรับภาพยนตร์บันเทิง หมายถึง บท (script) ซีเควนส์หลัก (master scene/sequence)หรือ ซีนาริโอ (scenario) คือ บทภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่อง บทพูด แต่มีความสมบูรณ์น้อยกว่าบทถ่ายทำ (shooting script) เป็นการเล่าเรื่องที่ได้พัฒนามาแล้วอย่างมีขั้นตอน ประกอบ ด้วยตัวละครหลักบทพูด ฉาก แอ็คชั่น ซีเควนส์ มีรูปแบบการเขียนที่ถูกต้อง เช่น บทสนทนาอยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษฉาก เวลา สถานที่ อยู่ชิดขอบหน้าซ้ายกระดาษ ไม่มีตัวเลขกำกับช็อต และโดยหลักทั่วไปบทภาพยนตร์หนึ่งหน้ามีความยาวหนึ่งนาที
6. บทถ่ายทำ (shooting script)
คือบทภาพยนตร์ที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเขียน บทถ่ายทำจะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทภาพยนตร์ (screenplay) ได้แก่ ตำแหน่งกล้อง การเชื่อมช็อต เช่น คัท (cut) การเลือนภาพ (fade) การละลายภาพ หรือการจางซ้อนภาพ (dissolve) การกวาดภาพ (wipe) ตลอดจนการใช้ภาพพิเศษ (effect) อื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเลขลำดับช็อตกำกับเรียงตามลำดับตั้งแต่ช็อตแรกจนกระทั่งจบเรื่อง
7. บทภาพ (storyboard)
คือ บทภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่อธิบายด้วยภาพ คล้ายหนังสือการ์ตูน ให้เห็นความต่อเนื่องของช็อตตลอดทั้งซีเควนส์หรือทั้งเรื่องมีคำอธิบายภาพประกอบ เสียงต่าง ๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงประกอบฉาก และเสียงพูด เป็นต้น ใช้เป็นแนวทางสำหรับการถ่ายทำ หรือใช้เป็นวิธีการคาดคะเนภาพล่วงหน้า (pre-visualizing) ก่อนการถ่ายทำว่า เมื่อถ่ายทำสำเร็จแล้ว หนังจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งบริษัทของ Walt Disney นำมาใช้กับการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนของบริษัทเป็นครั้งแรก โดยเขียนภาพ      เหตุการณ์ของแอ็คชั่นเรียงติดต่อกันบนบอร์ด เพื่อให้คนดูเข้าใจและมองเห็นเรื่องราวล่วงหน้าได้ก่อนลงมือเขียนภาพ ส่วนใหญ่บทภาพจะมีเลขที่ลำดับช็อตกำกับไว้ คำบรรยายเหตุการณ์ มุมกล้อง และอาจมีเสียงประกอบด้วย
การเขียนบทภาพยนตร์จากเรื่องสั้น
การเขียนบทอาจเป็นเรื่องที่นำมาจากเรื่องจริง เรื่องดัดแปลง ข่าว เรื่องที่อยู่รอบ ๆ ตัว นวนิยาย   เรื่องสั้น หรือได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจในเรื่องราวหรือบางสิ่งที่คนเขียนบทได้สัมผัส เช่น ดนตรี บทเพลง บทกวี ภาพเขียน และอื่น ๆ ซึ่งบทภาพยนตร์ต่อไปนี้ได้แปลมาจากเรื่องสั้นในนิตยสาร The Mississippi Review โดย Robert Olen Butler เรื่อง Salem แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงมาตรฐานรูปแบบการเขียนบทภาพยนตร์ว่ามีการเขียนและการจัดหน้าอย่างไร ขอให้ศึกษาได้ใบทภาพยนตร์โดยทั่วไป

อ้างอิง http://www.moralmedias.net/index.php?option=com_content&task=view&id=33&Itemid=39

2 thoughts on “การเขียนบทหนังสั้น

  1. รับผลิต 3D mapping , สร้าง 3D mapping , ออกแบบ 3D mapping , 3D mappping
    รับผลิต AR CODE , สร้าง AR CODE , ออกแบบ AR CODE , AR CODE
    ถ่ายภาพ 360 องศา

    ติดต่อสนใจงาน หรือสอบถามข้อมูล
    สำหรับผลงานทั้งหมด – http://www.illusion.in.th
    สำหรับ AR Code – http://www.myrecall.app
    illusion.thai@gmail.com , joe@myrecall.app
    โทร 0637896694 , 0948265652 (คุณโจ)
    Line : MESISE

    #Recall #ARCloud #ARCode #ง่าย #เร็ว #ประหยัด #เข้าถึงง่าย
    Recall ,AR Cloud ,AR Code ,ง่าย ,เร็ว ,ประหยัด ,เข้าถึงง่าย

ใส่ความเห็น